ผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาดูงาน 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม โรงพยาบาลบึงกาฬ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผาสวรรค์ และโรงพยาบาลบึงโขงหลง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสาธารณสุข
และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตลอดจนการนำองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินการเพื่อพัฒนาสุขภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากนักศึกษาที่เข้ามาเรียนหลักสูตรดังกล่าวมาจากหลายหลายพื้นที่หลากหลายวัฒนธรรมทั่วประเทศไทย การเข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของนักศึกษาช่วยให้สามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมตามแนวทางการยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนรู้ โดยสถานที่ศึกษาดูงานทั้ง 4 แห่งมีการดำเนินงานและจัดทำโครงการสำคัญหลายด้าน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะโครงการสำคัญที่โดดเด่น ดังนี้
1. โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม มีอาคาร สถานที่ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ห้องพักพิเศษ ที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการให้บริการ มีระบบไฟฟ้า มีระบบบำบัดน้ำเสีย มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอัตโนมัติ พร้อมที่จะทำงานเมื่อเกิดไฟฟ้าขัดข้อง โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคมจึงเป็นโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถในการที่จะปฏิบัติภารกิจด้านการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพแก่ทหาร ครอบครัว และให้บริการประชาชนทั่วไป อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังมีการจัดระบบบริการในสถานการณ์ COVID-19 และการเตรียมพร้อมบุคลากรในการให้บริการ ดังเช่น มีระบบการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกัน การแพร่กระจายของ COVID-19 การเข้าร่วมประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ COVID-19 กับหน่วยงานอื่น การส่งบุคลากรไปอบรมเรื่องการสอบสวนทางระบาด/การใส่ PPE พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วย COVID-19 แบบ Home Isolation นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโรงพยาบาล โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมจากการทำงาน ที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ มีการจัดทำกระบวนการเฝ้าระวัง ติดตามอุบัติเหตุจากการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล โครงการสร้างเสริมสุขภาพของบุคลากร เป็นต้น
2. โรงพยาบาลบึงกาฬ ได้นำเอาระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 มีการพัฒนาระบบการตรวจผ่านการแพทย์ทางไกลได้มีการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจผ่านทางการแพทย์ทางไกลได้ และได้ขยายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 14 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ มีระบบสารสนเทศโรงพยาบาลออนคลาวน์ (Hospital Information Systems : HIS on Cloud) ระบบคลาวน์เขตสุขภาพ (Regional Health Data Cloud) ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ (Communication Channel) มีอุปกรณ์ดิจิทัลและระบบเครือข่าย (Digital Device and Network) มี Web Cam ในทุกหน่วยบริการ เป็นต้น
3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผาสวรรค์ ได้เริ่มใช้ระบบ “Telemedicine” ตั้งแต่ช่วงมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทางโรงพยาบาลมีการจัดตารางเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีการปรึกษากับแพทย์ในระบบทางไกล โดยผู้ป่วยสามารถใช้ระบบ Telemedicine จากที่ รพ.สต. ซึ่งได้มีการจัดพื้นที่ให้กับผู้ป่วยในการให้คำปรึกษาและรับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์จากโรงพยาบาลได้โดยง่าย เนื่องจากลดระยะเวลาการเดินทางไปโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้รับบริการที่ได้ใช้ระบบ Telemedicine ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมาก
4. โรงพยาบาลบึงโขงหลง มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Smart Hospital ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการและการให้บริการ แม้ว่าในระยะแรกโรงพยาบาลค่อนข้างขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอุปกรณ์ช่วยชีวิต เริ่มต้นจากจัดสรรงบประมาณ จากเน้นการบริการที่ดีจึงมีผู้มีจิตศรัทธาเช่น ข้าราชการ หลวงปู่ ครูอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่ในเขตพื้นที่ได้ร่วมบริจาค รวมถึงมีการทอดผ้าป่า จึงเป็นที่มาของการได้สร้างหอภิบาลสงฆ์ จากนั้นโรงพยาบาลก็ได้พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโรงพยาบาลพยายามที่จะพัฒนาให้เข้าสู่การเป็น Smart Hospital โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังเช่น การปรับพื้นที่บริการของโรงพยาบาล การนำอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เป็นดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ (Smart tool) มีนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นโรงพยาบาล Smart hospital คือ การเป็นโรงพยาบาลสีเขียวและลดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (paperless) โรงพยาบาลได้ใช้ AI เข้ามาร่วมในการวินิจฉัยคนไข้ เป็นต้น
การนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์
องค์ความรู้ที่ได้สามารถประยุกต์กับการเรียนการสอนของหลักสูตร ทำให้ได้แนวทางการเรียนการสอนที่เป็นการบูรณาการการจัดบริการสุขภาพแบบพหุวัฒนธรรมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่กับการพัฒนาสุขภาพ ดังเช่น การเรียนการสอนมีการยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่ใช้ระบบ Telemedicine พบแพทย์ทางไกล ซึ่งเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยในพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะการสร้าง/พัฒนาระบบคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ บริบท สังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้นักศึกษามองเห็นภาพของการพัฒนาสุขภาพในเชิงระบบที่คำนึงถึงประโยชน์และบริบทของชุมชน เป็นต้น
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน
การออกแบบการการเรียนการสอนชุดวิชาฝึกปฏิบัติของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตและ
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย นอกจากองค์ความรู้ที่นักศึกษาต้องได้รับแล้ว ควรคำนึงถึงการจัดประสบการณ์การฝึกปฏิบัติของนักศึกษาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพและสภาพสังคมในปัจจุบัน ดังเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ และการจัดการฝึกปฏิบัติควรคำนึงถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของนักศึกษากับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนด้วย
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ต้องขอบพระคุณโรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม โรงพยาบาลบึงกาฬ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านผาสวรรค์ และโรงพยาบาลบึงโขงหลง เป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณาคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อันจะก่อให้เกิดความร่วมมืออันดี และประสบการณ์ในครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาการเรียนการสอนของหลักสูตรต่อไป
***********************************************************