ความเป็นมา

   ย้อนหลังไปเมื่อประมาณปี 2521 ประเทศไทยยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายประเภททั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และในขณะนั้นประเทศไทยตั้งเป้าหมายประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า Health for All by the Year 2000 ก็ยิ่งสะท้อนถึงความต้องการบุคลากรทางด้านสาธารณสุขประเภทต่าง ๆ มากขึ้น
   สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและจัดทำโครงการสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตามคำสั่งที่ 9/2522 ลงวันที่ 16 เมษายน 2522 และคำสั่งที่ 49/2522 วันที่ 21 มิถุนายน 2522 ให้ศึกษาความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข พยาบาล อนามัยและสุขศึกษา และจัดทำหลักสูตรการศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าว

  ในเวลาต่อมา คณะกรรมการศึกษาและจัดทำโครงการสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเปิดการศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นมาอีกสาขาวิชาหนึ่ง โดยมีการแสดงข้อมูลความต้องการกำลังคนด้านสาธารณสุขประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ชันสูตรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ และพยาบาล โดยอ้างถึงมติต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขและมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ก็มีข้อมูลแสดงความสนใจที่จะมีการศึกษาต่อของบุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน

  ในที่สุด นายเกษม สุวรรณกุล รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ได้ออก “ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การจัดตั้งสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2524 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2524 มีการจัดตั้ง 6 สาขาวิชาต่อไปนี้
1. สาขาวิชานิติศาสตร์
2. สาขาวิชาวิทยาการจัดการ
3. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
4. สาขาวิชาศิลปศาสตร์
5. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
6. สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

วัตถุประสงค์

    เมื่อแรกที่มีการจัดตั้งสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ตั้งวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพตามความต้องการของประเทศ
2. ให้บริการทางวิชาการแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำการทุกประเภททุกระดับในรูปของการศึกษาต่อเนื่องและฝึกอบรมประจำการ (Continuing Education and In-service training) เท่าที่ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยเปิดจะเอื้ออำนวย โดยถือความต้องการของประเทศและบุคลากรสาธารณสุขเป็นหลัก
3. ให้บริการทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชนในรูปของการเผยแพร่ความรู้
4. ดำเนินการและส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ซึ่งผู้บริหารและคณาจารย์ในรุ่นต่อ ๆ มา ก็ยังยึดถือวัตถุประสงค์ข้างต้นมาโดยตลอด