ด้วยสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดการเรียนการสอน ชุดวิชาการปฐมพยาบาลและการบำบัดโรคเบื้องต้น ซึ่งเป็นชุดวิชาหนึ่งที่สำคัญของหลักสูตร เป็นชุดวิชาที่มีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติหลักสูตรมีความคาดหวังต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ คือ นักศึกษามีความรู้และทักษะการฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาลและการบำบัดโรคเบื้องต้น ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และสอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรในการศึกษาระบบการศึกษาทางไกลและพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 การฝึกปฏิบัติจะประกอบด้วย การฝึกด้วยตนเอง การฝึกเสริมทักษะ 2 ครั้ง และการฝึกตามมอบหมาย ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนทักษะ 8 ทักษะ
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่หลักสูตรกำหนด สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงได้จัดสัมมนาออนไลน์ สำหรับศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและศูนย์บริการสาธารณสุข) และอาจารย์ฝึกตามมอบหมาย เพื่อให้บุคลากรที่จะต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติมีความเข้าใจตรงกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น ในการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 31 ศูนย์ ซึ่งมีหัวข้อในการสัมมนา ดังนี้
1. แนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสาธารณสุขชุมชน โดยอธิบายถึงการจัดการเรียนการสอนที่นักศึกษาได้เรียนผ่านมา ก่อนที่จะได้ลงฝึกปฏิบัติภาคสนามในสถานที่จริง
2. ความสำคัญและบทบาทของศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจฝึกตามมอบหมาย และอาจารย์ฝึกตามมอบหมาย
3. แนวทางการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ ประกอบด้วย การฝึกเบื้องต้น การฝึกเสริมทักษะ การฝึกตามมอบหมาย การประเมินผลการฝึกเสริมทักษะและการฝึกตามมอบหมาย
4. แนวทางและการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจฝึกตามมอบหมาย
5. ซักถามปัญหา/ อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติในภาคการศึกษาที่ผ่านมา
การนิเทศงานออนไลน์นักศึกษาฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจฝึกตามมอบหมาย ชุดวิชาฝึกปฏิบัติการปฐมพยาบาลและการบำบัดโรคเบื้องต้น ซึ่งมีหัวข้อในการนิเทศงาน ดังนี้
1. ความก้าวหน้าในการฝึกตามมอบหมายแต่ละทักษะและกิจกรรมที่ชุดวิชากำหนดในการฝึกตามมอบหมาย
2. การจัดทำรายงานของนักศึกษาเพื่อเตรียมการสำหรับการฝึกเสริมทักษะครั้งที่ 2
3. การเตรียมนำเสนอผลการฝึกตามมอบหมาย
4. ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาตนเองของนักศึกษา
5. ปัญหา/ อุปสรรคในการฝึกตามมอบหมาย ณ ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจฝึกตามมอบหมาย