จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าดูงาน The 14th International Exhibition on Hospital, Diagnostic, Pharmaceutical, Medical & Rehabilitation Equipment & Supplies (MEDICAL FAIR ASIA, 2020) ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2565 ที่ประเทศสิงค์โปร์ โดยในงานนี้ ถือว่าเป็นงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเกี่ยวกับการแพทย์ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ในอันดับต้นๆของระดับเอเชีย
ในงานมีสินค้าและนวัตกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เท่าที่สังเกตดูจะเน้นพวกอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้สูงอายุ และTelemedicine เช่น ตู้ Telemedicine ที่สามารถบันทึกข้อมูลเบื้องต้น เช่น วัดอุณหภูมิ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน O2 ในเลือด ฯลฯ และพูดคุยกับแพทย์ได้ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดคุยกับแพทย์เสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถรับยาจากแพทย์ได้ที่ตู้ยาด้านข้างเลย นอกจากนั้นยังมี ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) ใหม่ๆ มาแสดงและสาธิตการใช้งานด้วย เช่น แอปพลิเคที่สามารถใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการส่องหน้าทางมือถือ แอปพลิเคชันการประเมินความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ medical devices ใหม่ ๆ เป็นต้น
ในส่วนของส่วนงานสัมนาส่วนใหญ่ก็เป็นหัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019และการจัดการโรคของสิงคโปร์ Healthcare startups และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะความท้าทายและความได้เปรียบหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งวิทยากรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดการโรคของสิงคโปร์ว่า ประเทศสิงคโปร์มีความโชคดีที่มีเป็นประเทศขนาดเล็ก และมีบริษัทและโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก ทำให้มีการจัดการที่ไม่ซับซ้อนและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์การป้องกันโรค โดยเฉพาะพวกหน้ากากอนามัย รวมถึงรัฐบาลมีการบริหารจัดการที่ดีและรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนก็มีความเชื่อมั่นในการจัดการของรัฐบาลและให้ความร่วมมือที่ดี ประชาชนท่านใดที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ได้รับการดูแลที่ดีและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดเมื่อ 3 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันก็ยังคงนโยบายเดิม โดยวิทยากรได้บอกว่าจุดเด่นที่ทำให้ประเทศสิงค์โปรสามารถจัดการและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดีคือ 1 การมีนโยบายให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย 2 การเน้นนโยบายการตรวจเชิงรุก ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนการตรวจเชิงรุกของประเทศมาเลเซียด้วย เพราะมีพรมแดนติดกัน และ 3 การรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีควัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
สิ่งที่น่าสนใจในงานสัมมนานี้คือ วิทยากรได้แลกเปลี่ยนการถอดบทเรียนจากการจัดการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาของสิงคโปร์ ว่าสิ่งสำคัญที่ต้องมีและสามารถช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโรคได้ในอนาคต 3 อย่าง ได้แก่
1 บุคลากรทางการแพทย์ที่สื่อสารได้หลายภาษา เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนในประเทศสิงค์โปรมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ และการสื่อสารและรณรงค์การป้องกันโรคในสถานการณ์การระบาดของโรคก็เป็นปัจจัยสำคัญมากในการควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้จำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถเรื่องการสื่อสารได้หลายภาษา
2 เครือข่ายทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศ และมีโอกาสเกิดการขาดแคลนของอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ จึงควรต้องมีเครือข่ายเพื่อจะได้มีสามารถร้องขอความช่วยเหลือ ขอหรือยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ได้
3 การจัดการกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในช่วงสถานการณ์ปกติ ต้องมีการเน้นการเสริมสร้างสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพเบื้องต้นแข็งแรง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้มีผู้มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลลดลง ส่งผลให้การทำงานของแพทย์ลดลง และจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาจัดการกับโรค โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดได้ดีขึ้น อีกทั้งในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค ควรจะมีการแยกตึกหรือแยกบริเวณในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังออกไป เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคอื่นๆเช่นกัน
ก็ถือว่างานนี้เป็นงานที่น่าสนใจ สามารถเปิดมุมมองด้านเทคโนโลยีและเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการเริ่มเปิดประเทศหลังการสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงปัญหาที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ถ้าผู้ใดสนใจทางผู้จัดจะมีการมาจัดงานในประเทศไทย (Medical Fair Thailand) ที่ไบเทค บางนา ในวันที่ 13-15 กันยายน 2566 ก็สามารถเข้าไปร่วมชมได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบพระคุณสถานพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกลมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้ให้โอกาสผู้เขียนในการร่วมเข้าดูงาน 14th International Exhibition on Hospital, Diagnostic, Pharmaceutical, Medical & Rehabilitation Equipment & Supplies (MEDICAL FAIR ASIA, 2020) ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2565 ที่ประเทศสิงค์โปร์ ในครั้งนี้ค่ะ