จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าดูงาน Hong Kong International Medical and Healthcare 2023ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2566 ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในงานนี้ ถือว่าเป็นงานที่แสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพที่จัดโดย The Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) ร่วมกับ Hong Kong Medical and Healthcare Device Industries Association โดยมีวัตถุประสงค์ให้ฮ่องกงเป็นศูนย์รวมการแสดงนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพระดับนานาชาติ และถือว่าเป็นงานที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในทวีปเอเชีย และมีการแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย ดังรูปแสดงบรรยากาศรูปที่ 1
รูปที่ 1 บรรยากาศงาน Hong Kong International Medical and Healthcare 2023
ในงานมีนวัตกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เท่าที่สังเกตดูจะเน้นพวกอุปกรณ์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ช่วยเรื่องการได้ยิน (รูปที่ 2-4) ซึ่งจะช่วยให้เสียงเข้าสู่หูชั้นในรูปหอยโข่ง หรือ อวัยวะรูปหอยโข่ง หรือ คอเคลีย (Cochlea ) โดยตรง ตัดเสียงรบกวน ทำให้การได้ยินชัดเจนขึ้น ใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อนมีปุ่มกดขนาดใหญ่แค่เปิดปิดเครื่อง รับโทรศัพท์ ฟังเพลง วางหรือปิด รวมถึงการออกแบบลักษณะหูฟังให้เป็นการหนีบกับรอยพับของหู สวมใส่สบายได้ทั้งวัน ไม่เจ็บหรือหนักหู น้ำหนักเบา พกพาง่าย ทำความสะอาดได้ง่าย
รูปที่ 2 เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูงอายุ
รูปที่ 4 เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูงอายุ เวลาใช้งานจริง
รูปที่ 3 กลไกการทำงานของเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้สูงอายุ
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ที่รองนั่งและอุปกรณ์รองรับการกดทับที่ส้นเท้า เท้า มือ แขน ข้อศอก ข้อเข่าหรือส่วนต่างๆของร่างกายที่มีโอกาสโดนกดทับจากการนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน รวมถึงบริเวณต่างๆที่เสี่ยงต่อการได้รับการกระแทกเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบที่เป็นวัสดุจากผ้า ด้านในเป็นฟูก นุ่น หรือเมมโมรี่โฟม (รูปที่ 5) หรือวัสดุจากพลาสติกชนิดพิเศษที่มีความเหนียวพิเศษและอัดลมเข้าไป (รูปที่ 6-8) นอกจากจะมีการออกแบบที่มีขนาดที่หลากหลายมากขึ้น มีความเหมาะสมรองรับการกดทับได้มากขึ้น เช่น เบาะรองนั่ง มีการนำสินค้าเบาะรองนั่งให้ทดลองนั่ง โดยวางพวกอุปกรณ์ต่างๆ ไว้บนเบาะรองนั่ง ถ้าเป็นที่รองนั่งปกติเราจะนั่งแล้วเจ็บเพราะมีของวางไว้ แต่เบาะรองนั่งของเขาสามารถรองรับและกระจายน้ำหนักทำให้ คนนั่งไม่รู้สึกว่ามีของอะไรวางอยู่เลย เปรียบเสมือนผู้สูงอายุหรือคนที่มีแผลอยู่บริเวณที่ก้น ก็จะสามารถนั่งได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ (รูปที่ 8) อีกทั้งมีการระบายอากาศที่ดีขึ้น ไม่อับ ไม่ร้อน และสะดวกต่อการใช้งานแล้ว (การมีแถบผ้าหรือแถบแม่เหล็กติดได้ง่าย มีรูปลักษณะที่ใส่แล้วไม่อึดอัด หรือสร้างความรำคาญ หรือการออกแบบกระบอกที่ม้วนเก็บให้สามารถกลายเป็นที่ปั๊มลม (รูปที่ 9) รวมถึงถูกต้องตามหลักการย-ศาสตร์ ยังมีการใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมเรื่องการทำลายหรือการส่งคืนบริษัทเพื่อรับส่วนลดในการเปลี่ยนคืนผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่อีกด้วย
รูปที่ 5 อุปกรณ์รองรับการกดทับที่แขน ข้อศอก มือ
รูปที่ 6 อุปกรณ์รองรับการกดทับที่ขา ข้อเท้า
รูปที่ 7 อุปกรณ์รองรับการกดทับที่เตียงขณะนอน
รูปที่ 9 กระบอกเก็บอุปกรณ์รองรับแรงกด (รีดไล่ลมแล้วม้วนใส่กระบอก) ที่ใช้เป็นที่ปั๊มลมได้
รูปที่ 8 อุปกรณ์รองรับการกดทับที่ก้นขณะนั่ง
นอกจากอุปกรณ์รองรับการกดทับแล้ว ก็ยังมีพวกอุปกรณ์เกี่ยวกับเตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับหมุนได้ทั้งแกน X และ Y เพื่อช่วยในการพลิกตัวหรือขนย้ายผู้ป่วยได้สะดวกและง่ายดายขึ้นด้วย ดังรูปที่ 10
รูปที่ 10 เตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับหมุนได้ทั้งแกน X และ Y
ปัญหาหลักของผู้สูงอายุอีกประเด็นที่พบได้บ่อยคือ การหกล้ม ในงานมีอุปกรณ์ป้องกันการหกล้มในรูปแบบเข็มขัดที่รัดกับเก้าอี้ (รูปที่ 11) รวมถึงมีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการส่งสัญญาณหาผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยตกจากเตียงหรือเก้าอี้ (รูปที่ 13-14) นอกจากนั้นยังมีแป้นหมุน (รูปที่ 11 และ 12) ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถหมุนตัว เพื่อที่จะลุกนั่งหรือเคลื่อนย้ายได้สะดวกปลอดภัย และลดการหกล้มได้มากขึ้น
รูปที่ 12 แป้นหมุนขนาดและรูปแบบต่าง
รูปที่ 11 อุปกรณ์ป้องกันหกล้มโดยการรัดผู้ป่วยกับเก้าอี้และแป้นหมุน
รูปที่ 13 อุปกรณ์ป้องกันหกล้มพร้อมกับแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการส่งสัญญาณหาผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยตกจากเตียงหรือเก้าอี้
รูปที่ 14 รายละเอียดเกี่ยวกับแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยตกจากเตียงหรือเก้าอี้
นอกจากพวกอุปกรณ์หรือนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ก็พบว่ามีพวกอุปกรณ์สำหรับการทำกายภาพบำบัดหรือช่วยฟื้นฟูสภาพมากมายหลายแบบด้วย เช่น 1) เตียงหรือหุ่นยนต์จัดกระดูก หรือไคโร แพรกติก โรบอท (Chiropractic Robot) ดังรูปที่ 15 2) มือกลและเท้ากลที่ช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ หรือเท้าและนิ้วเท้า (รูปที่ 16-17) และ 3) อุปกรณ์ช้อน ส้อม มีด ที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์สำหรับผู้ป่วยแขนหัก (รูปที่ 18)
รูปที่ 16 มือกลสำหรับฟื้นฟูกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ
รูปที่ 17 มือกลสำหรับฟื้นฟูกล้ามเนื้อมือและนิ้วมืออีกรูปแบบ
รูปที่ 18 ส้อมสำหรับผู้ป่วยแขนหัก
มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ นอกเหนือจากแอปพลิเคชันแจ้งและดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยตกเตียง มาแสดงและสาธิตการใช้งานด้วย เช่น 1) แอปพลิเคชันที่สามารถใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Volumetric bone mineral density) รวมถึงการตรวจสอบเนื้อเยื่ออ่อน ทั้งกล้ามเนื้อและไขมัน ซึ่งเป็นการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงโดยประยุกต์ระหว่างการใช้ AI กับ เทคนิคชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ร่วมกับประสบการณ์ 30 ปี นำเสนอเป็นภาพ 3 มิติ ดังรูปที่ 19
รูปที่ 19 แอปพลิเคชันที่สามารถใช้ตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก
รูปที่ 20 แอปพลิเคชันและอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจวัดคีโตนทางลมหายใจ
2) แอปพลิเคชันตรวจคีโตนการลมหายใจ (รูปที่ 20) เป็นเครื่องที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งขาดหรือไม่สามารถนำอินซูลินที่จะมาเอาน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ทำให้ร่างกายต้องไปสลายไขมันมาเป็นพลังงานแทน ทำให้เกิดคีโตนขึ้น ซึ่งทั้งน้ำตาลสูงและคีโตนสูงทำให้เลือดเป็นกรด เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
3) แอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์การตรวจ (รูปที่ 21) เช่น หูฟังแพทย์ (Stethoscope) เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เครื่องส่องตรวจผิวหนัง (Dermatoscope) เครื่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อใช้ในการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Tele-consultation) รวมถึงสามารถติดตามสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยจากค่าต่างๆ เช่น ค่าความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ได้ด้วย
4) แอปพลิเคชันเกมช่วยพัฒนาสมองและลดการเกิดภาวะสมองเสื่อม (รูปที่ 21) ประกอบด้วยเกมต่างๆ ที่เล่นได้ง่ายและสนุกสนาน รวมถึงแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังสามารถนำผลคะแนนที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาหรือพัฒนาหรือวางแผนป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ต่อ
รูปที่ 21 แอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ตรวจ การติดตามสภาวะสุขภาพและปรึกษาแพทย์ทางไกล
รูปที่ 22 แอปพลิเคชันเกมช่วยพัฒนาสมองและลดการเกิดภาวะสมองเสื่อม
ในส่วนของส่วนงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นหัวข้อ การวางแผนสาธารณสุขมูลฐาน: การป้องกัน การคัดกรองและการเฝ้าระวังโรคเรื้อรัง (Primary Healthcare Blueprint : Prevention, Screening and Monitoring of Chronic Disease)
รูปที่ 23 งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นหัวข้อ การวางแผนสาธารณสุขมูลฐาน: การป้องกัน การคัดกรองและการเฝ้าระวังโรคเรื้อรัง
Dr Aaron Fook Kay Lee ผู้นำเสนอ ได้พูดเกี่ยวกับแนวโน้มปัญหาโรคเรื้อรังในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือฮ่องกง ไว้เบื้องต้นว่าจะที่ฮ่องกงนั้นมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านคน (ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2566 เป็น 2.52 ล้านคน (ร้อยละ 31 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2582 ซึ่งจะทำให้พบผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น และอาจจะมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังสูงถึง 3 ล้านคนได้ในปี 2582 เมื่อพิจารณาที่ระบบสาธารณสุขของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือฮ่องกง นั้นพบว่ามีการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปฐมภูมิหรือสาธารณสุขมูลฐาน ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ ซึ่งในปัจจุบันจะเน้นที่ระบบทุติยภูมิและตติยภูมิเป็นหลัก โดยมีการใช้เงินไปกับการรักษาและฟื้นฟูสภาพสูงถึง 127.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สาธารณสุขมูลฐานหรือการป้องกันควบคุมโรคนั้น มีการใช้เงินไปแค่ร้อยละ 17 (ประมาณ 16 ล้านล้านดอลลาร์) ของระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ทำให้ปีที่ผ่านมารัฐบาลของฮ่องกงได้ทำโครงการเน้นเรื่องการวางแผนระบบป้องกันและควบคุมโรค อันประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การป้องกันโรค เป็นการให้ความสนใจกับสุขภาพส่วนบุคคลของประชากรทุกกลุ่มช่วงวัย 2) การคัดกรองโรค จะเน้นการตรวจโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยเน้นโรคในกลุ่มหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต ภาวะสมองเสีอม โรคทางพันธุกรรม 3) การวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะโรคที่ต้องมีการวางแผนการรักษา 4) การรักษา ซึ่งมีการวางแผนการรักษาขึ้นกับหรือจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และ 5) การเฝ้าระวังโรค ซึ่งสามารถแบ่งเป็นการเฝ้าระวังระยะยาวในโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การเฝ้าระวังระยะยาวในโรคเรื้อรัง และการเฝ้าระวังโรคเฉพาะโรคพิเศษ หรือประชากรกลุ่มพิเศษ
นอกจากนั้นการสัมมนาประเด็นนี้ Dr. Candice Powell ก็ได้พูดถึง วิธีการส่งเสริมสุขภาพจิตในมุมมองขององค์กร การจัดการ และ บุคคล โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตในที่ทำงาน พบว่า ร้อยละ15 ของการทำงาน พบความผิดปกติทางจิตในผู้ใหญ่ ซึ่งความผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการเงินในบริษัทด้วยการสูญเสียวันทำงานและประสิทธิภาพการทำงาน เดิมทีเราอาจคิดว่าการรักษาสุขภาพจิตที่ดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานที่ทำงานมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตเป็นสำคัญ โดยนายจ้างต้องเข้ามามีบทบาทด้วย สุขภาพจิตที่ดีคือสภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่ทำให้เราสามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตได้และดึงเอาศักยภาพและความสามารถของเราออกมา (รูปที่ 24)
รูปที่ 24 แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตในที่ทำงาน
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบพระคุณสถานพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกลมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้ให้โอกาสผู้เขียนในการเข้างาน Hong Kong International Medical and Healthcare 2023 ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2566 ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในครั้งนี้ค่ะ