จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าอบรมในรูปแบบออนไลน์ในหลักสูตรเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA Criteria) เมื่อวันที่ 28 – 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตรดังกล่าว จัดโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยการอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกล ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการอบรมดังนี้
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) มีพื้นฐานทางเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) เป็นรางวัล TQA ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศเพื่อสร้างรากฐานการเติบโตของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศให้มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมีเจตนารมณ์ที่สำคัญเพื่อ
1) สนับสนุนการนำแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน
2) ประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ประสบผลสำเร็จในระดับมาตรฐานโลก
3) กระตุ้นให้มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ และ
4) แสดงให้นานาชาติเห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ
การที่จะพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรให้ได้รางวัล TQA จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้เข้าเกณฑ์และนำกรอบมาใช้ในการพัฒนาให้เป็นไปตามเกณฑ์ ภาพรวมของเกณฑ์จะประกอบด้วย ส่วนที่เป็นโครงร่างองค์กรที่แสดงถึงลักษณะองค์กร (สภาพแวดล้อมขององค์กรและความสัมพันธ์ระดับองค์กร) สถานการณ์ขององค์กร (สภาพแวดล้อมด้านการแข่งขัน บริบทเชิงกลยุทธ์ และระบบการปรับปรุงผลการดำเนินการ) และส่วนที่เป็นหมวดที่ 1 ถึง 7 ประกอบด้วย หมวดการนำองค์กร หมวดกลยุทธ์ หมวดลูกค้า หมวดการวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ หมวดสภาพแวดล้อมของบุคลากร หมวดการปฏิบัติการและหมวดผลลัพธ์ (รายละเอียดดังภาพที่ 1-3)
ซึ่งเกณฑ์แต่ละหมวดจะถามถึงวิธีการดำเนินการ ผลการดำเนินการและการปรับปรุงในด้านที่สำคัญทุกด้านขององค์กร ซึ่งการได้เรียนรู้เกณฑ์ดังกล่าวทำให้เราต้องกลับมามององค์กรหรือหน่วยงานของเราว่าได้มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีการพัฒนาด้านใดไปบ้าง และโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปมีอะไรบ้าง
นับว่าเป็นเกณฑ์ที่สำคัญเหมาะแก่การเรียนรู้และนำมาพัฒนาการดำเนินงานหรือมาประยุกต์ใช้ในการด้านการศึกษาซึ่งหากพิจารณาแล้วเกณฑ์ TQA นี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยกำลังดำเนินการนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้ในเรื่องเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในครั้งนี้
ผู้เขียนจึงขอขอบพระคุณสถานพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้สนับสนุนให้โอกาสได้ร่วมเรียนรู้ในการอบรมหลักสูตรนี้ ขอขอบคุณสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติที่ได้จัดหลักสูตรอบรมที่คุณค่าอย่างหลักสูตรเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาตินี้
เอกพล กาละดี