You are currently viewing โครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต”

โครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต”

โครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต” ผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 โดยศึกษาดูงานใน 3 หน่วยงาน ได้แก่ (1) ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (2) ศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ (3) ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรและสถาบันขงจื่อ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนด้านสาธารณสุข การวิจัยด้านสุขภาพ และศูนย์ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนการนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมของนักศึกษา และเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต  โดยสถานที่ศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  มีการดำเนินงานและจัดทำโครงการสำคัญหลายด้าน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะโครงการสำคัญที่โดดเด่น ดังนี้

            1. ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ:  หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสุขภาพชายแดน) มีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ Asian University Network-Quality Assurance (AUN-QA) ระดับอาเซียน โดยผ่านเกณฑ์ประเมินอยู่ในระดับ Band 4 ซึ่งภาควิชาฯ  มีการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (PLO) และรายวิชาที่มีความสอดคล้องกัน  มีการจัดการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติแบบ Active Learning เช่น การจัดนิทรรศการ กิจกรรมนำเสนอผลงานโครงการปัญหาสุขภาวะชุมชนของนักศึกษาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การฝึกปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมและพัฒนาทักษะทางวิชาชีพสาธารณสุข และมีการฝึกปฏิบัติด้านสาธารณสุขทั้งในห้องเรียนและในชุมชน  นอกจากนี้ยังมีการประชุมเพื่อรายงานการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรเป็นประจำในที่ประชุมภาควิชาฯ

2. ศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ:  ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  ศูนย์ฯ มีแนวทางการวิจัยต่าง ๆ มุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจสุขภาพของชาวเขาและประชากรไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป้าหมายสูงสุดคือการช่วยในการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพสำหรับประชากรดังกล่าว  ที่ผ่านมาศูนย์ฯ มีการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 80 เรื่อง  ปัจจุบันรับผิดชอบโครงการวิจัยกว่า 16 โครงการ  ศูนย์ฯ ยังเป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เช่น เครือข่ายศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกและศูนย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีบทบาทช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสุขภาพชายแดน) อีกด้วย

            3. ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และสถาบันขงจื่อ:  ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน โดยในโอกาสเดียวกันยังได้พระราชทานชื่อกองทุนการศึกษา ชื่อ “ทุนการศึกษาสิรินธร” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาของนักเรียนชาวเขา หรือนักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารที่ยากจนแต่เรียนดี และศูนย์ฯ นับเป็นสถานที่แห่งเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ และจัดหาคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนภาษาจีนร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถสอนและศึกษาภาษาจีนได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้สถาบันขงจื่อแห่ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังเป็นศูนย์กลางการสอบวัดความรู้ภาษาจีน HSK YCT HSKK  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สำคัญอื่นที่มีการจัดที่สถาบัน เช่น การประกวดหัตถกรรมจีน การประกวดนาฏศิลป์ พื้นบ้านจีน สัปดาห์ภาพยนต์จีนและงานวันวัฒนธรรมจีน เป็นต้น

การนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์

องค์ความรู้ที่ได้สามารถประยุกต์กับการเรียนการสอนของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต  ทำให้ได้แนวทางการออกแบบหลักสูตรให้มีการบูรณาเรียนการสอนที่เน้นทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นของผู้เรียนตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพในแต่ละชั้นปีการศึกษา และจัดเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติแบบ Active Learning สอดล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (PLOs) ทำให้ผู้เรียนได้ถูกเตรียมทักษะในแต่ละเรื่องจากรายวิชาต่างๆ จนทำให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามเป้าหมายของหลักสูตรเมื่อสำเร็จการศึกษา และจากการที่หลักสูตรสอนด้วยภาษาอังกฤษทำให้บัณฑิตมีคุณลักษณะเฉพาะ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เป็นที่ต้องการของผู้ใช้บัณฑิตหลายหน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ  นอกจากนี้ยังได้แนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้รับผลการประเมินคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ Asian University Network-Quality Assurance (AUN-QA) ในระดับ Band 4

สำหรับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต การเปิดหลักสูตรการจัดการสุขภาพชายแดน ที่มีจุดเน้นที่ชัดเจน ทำให้ผู้สนใจเรียนคือผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพนานาชาติ สุขภาพชายแดน ทั้งในประเทศไทย และนักศึกษาต่างประเทศ เช่น จีน พม่า แอฟริกา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้รับทุนการรัฐบาลไทยและต่างประเทศให้ทุนแก่นักศึกษาประเทศต่างๆ ซึ่งการจัดการเรียนการสอน การวิจัยของหลักสูตร มีการเชื่อมโยงกับการทำวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์ ของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 

นอกจากนี้ยังได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของชาวเขาและประชากรไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ช่วยให้ได้แนวทางในการจัดทำวิจัยในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพและสาธารณสุข

ข้อเสนอแนะจากการศึกษาดูงาน

–  การออกแบบการการเรียนการสอนชุดวิชาฝึกปฏิบัติของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต นอกจากองค์ความรู้ที่นักศึกษาต้องได้รับแล้ว ควรคำนึงถึงการจัดประสบการณ์การฝึกปฏิบัติของนักศึกษาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพ สภาพสังคมในปัจจุบัน มีการบูรณาการและจัดฝึกปฏิบัติแบบ Active Learning สำหรับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต การออกแบบการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร  ควรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพ สภาพสังคมในปัจจุบันของผู้เรียน

การศึกษาดูงานในครั้งนี้ต้องขอบพระคุณ ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์  และศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรและสถาบันขงจื่อ  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  เป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณาคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อันจะก่อให้เกิดความร่วมมืออันดี และประสบการณ์ในครั้งนี้สามารถนำไปพัฒนาการเรียนการสอนของหลักสูตรต่อไป

***********************************************************