You are currently viewing สาระน่ารู้ที่อยากแบ่งปัน…เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์ข้อมูล

สาระน่ารู้ที่อยากแบ่งปัน…เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกลประจำปีงบประมาณ 2564 เข้าอบรมออนไลน์ในหลักสูตรสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS (ขั้นสูง) และการวิเคราะห์สมการโครงสร้าง (Structural equation model: SEM) วิทยากร คือ รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา  วานิชย์บัญชา โดยสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการอบรม ดังนี้

1. หลักสูตรเน้นการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สำหรับวินโดว์ ช่วยในการวิเคราะห์ โดยจะเน้นถึงวิธีการทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบหลายตัวแปรในการวิเคราะห์ การแปลความหมายของผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรม SPSS การสรุปผล เพื่อให้ผู้ร่วมอบรมสามารถนำเทคนิคทางสถิติต่างๆ ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้ โดยมีเนื้อหาการอบรม ประกอบด้วย

              1) Multiple Linear Regression

              2) Factor Analysis

              3) Logistic Regression Analysis

              4) Discriminant Analysis

              5) Cluster Analysis

2. หลักสูตรการวิเคราะห์สมการโครงสร้างหรือโมเดลสมการโครงสร้าง (Structural equation model: SEM) มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรหลายตัวเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่มีต่อกันในหลาย ๆ ลักษณะ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เพื่อตอบโจทย์วิจัยในลักษณะนี้จะต้องใช้สมการทางคณิตศาสตร์หลายสมการเพื่อประมาณค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเหล่านั้น ตัวอย่างของการศึกษาเช่น ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ของชุดของตัวแปรอิสระหลายตัวที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อตัวแปรตาม และมีอิทธิพลส่งผ่านตัวแปรคั่นกลาง (Intervening Variables) ผ่านไปยังตัวแปรตามอีกเส้นทางหนึ่งที่เรียกว่า อิทธิพลทางอ้อม (Indirect Effect) หรือบางครั้งจะศึกษาจะเรียกว่าเป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรแฝงเชิงทฤษฎี  (Theoretical Latent Variables or Constructs) ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันหลาย ๆ ตัวแปร หรือใช้วิเคราะห์สำหรับโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรแฝง (Latent Variables) กับตัวแปรสังเกตได้ (Observed Variables) โดยทำการประมาณค่าพารามิเตอร์ของโมเดลพร้อมกันทั้งหมดด้วยระบบสมการ โดยวิธีการนี้ต้องกรอบแนวคิดในการวิจัยมีแนวคิดทฤษฎีรองรับอย่างดี

          อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การวิเคราะห์สมการโครงสร้างเป็นเทคนิคทางสถิติที่ใช้ในการยืนยัน (Confirmatory) มากกว่าการสำรวจค้นหา (Exploratory) และเป็นเทคนิคทางสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าโมเดลที่สร้างขึ้นจากการทบทวนแนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจริงในปรากฏการณ์หรือข้อมูลเชิงประจักษ์

          โดยผู้เขียนได้สรุปเนื้อหารายละเอียดของการอบรมทั้ง 2 หลักสูตรเป็นรูปเล่ม สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมสามารถคลิกที่ลิงค์ https://rb.gy/hn6sor และผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณสถานพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้สนับสนุนให้โอกาสได้ร่วมเรียนรู้ในการอบรมหลักสูตรข้างต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.นิตยา  เพ็ญศิรินภา
รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา  จันทร์คง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกพล  กาละดี
อาจารย์สุณัฐชา  เผ่าพงษ์ศิลป์