You are currently viewing ปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัย

ปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัย

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกอบรมในโครงการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) รุ่นที่ 3 วันที่ 22 ถึง 26 สิงหาคม 2565 ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นการอบรมที่ดีมากและมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่ในครั้งนี้ผู้เขียนจะขอมาอธิบายเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัย

เมื่อเราพูดถึงเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัย ก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องความคลาดเคลื่อนหรือ error ก่อนว่ามันคืออะไร ค่าความคลาดเคลื่อน มันก็คือ ค่าความแตกต่างของค่าจริงที่ถูกวัดในทางปฏิบัติกับผลที่ได้จากการวัด เพราะฉะนั้นความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัย ก็คือ ค่าความแตกต่างของค่าจริงที่เราควรจะต้องวัดได้จากการใช้เครื่องมือวิจัยกับผลที่เราวัดได้จากการใช้เครื่องมือวิจัยนั้น หรือกล่าวได้ว่าค่าที่สังเกตหรือวัดได้ (Observe Score) จะมีค่าเท่ากับค่าคะแนนจริง (True Score) รวมกับค่าความคลาดเคลื่อน (Error Score) นั่นเอง โดยปกติแล้วเราสามารถแบ่งความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนเชิงระบบ (Systematic error) และ ความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม (Random error)

ความคลาดเคลื่อนเชิงระบบ คือ ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของเครื่องมือทำวิจัยหรือกระบวนการวัด ในบางครั้งความคลาดเคลื่อนเชิงระบบอาจมีชื่อเรียกได้เป็น fixed error หรือ bias error (เกิดจากอคติ) ซึ่งความคลาดเคลื่อนชนิดนี้จะเกิดขึ้นในลักษณะคงที่ ค่าที่เกิดขึ้นในการวัดแต่ละครั้งมีขนาดเท่าเดิม เกิดได้เท่ากันในทุกกลุ่มประชากรและเกิดความแปรปรวนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง (ถ้ามากกว่าปกติก็มากกว่าทั้งหมด ถ้าน้อยกว่าก็น้อยกว่าทั้งหมด) โดยปัญหาความความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อความตรง (validity) มากกว่าความเที่ยง (Reliability) ของเครื่องมือวิจัย เป็นค่าที่สามารถป้องกันได้ล่วงหน้า และสามารถลดและแก้ไขค่าได้ด้วยการออกแบบกระบวนการวิจัยที่เหมาะสมเพื่อลดอคติ หรือการนำวิธีการปรับแก้มาใช้ในการช่วยปรับลดค่าลง ส่วน ความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม คือ ความคลาดเคลื่อนที่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ซึ่งความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มนี้เป็นค่าที่ไม่สามารถคาดเดาความคลาดเคลื่อนได้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นความคาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่คงที่และไม่มีทิศทางแน่นอน (อาจจะมากขึ้นหรือลดลงก็ได้) เมื่อทำการวัดซ้ำก็จะได้ค่าที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง สามารถลดและแก้ไขค่านี้ได้ด้วยการวางแผนการเก็บตัวอย่างที่ดี เพิ่มขนาดกลุ่มตัวอย่างและการใช้สถิติช่วย

เมื่อเราเข้าใจประเภทของความคลาดเคลื่อนกันแล้ว เราก็จะมาดูปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัยกันโดยจะขอแบ่งเป็น 4 ปัจจัยใหญ่ๆ ได้แก่

  1. เครื่องมือ (Instruments) มักเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดความคลาดเคลื่อนเชิงระบบ ปัญหาจากเครื่องมือมักจะเกิดจาก 1) การกำหนดรูปแบบการวัดและหรือวิธีการวัดมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน        2) เครื่องมือที่ใช้วัดไม่มีความตรงหรือความเที่ยงเพียงพอ 3) เครื่องมือที่ใช้วัดไม่เหมาะสมกับตัวแปรที่ศึกษา และ 4) มาตรวัดของเครื่องมือที่ใช้วัดไม่เหมาะสมกับตัวแปรที่ศึกษา โดยวิธีการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากปัจจัยนี้ก็คือ การออกแบบและเลือกใช้เครื่องมือทำวิจัยให้มีคุณภาพ
  2. ตัวผู้วิจัย (Researcher) มักเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดความคลาดเคลื่อนเชิงระบบเช่นกัน โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก 1) ผู้วิจัยขาดทักษะการใช้เครื่องมือทำให้ผลการวัดที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง 2) ผู้วิจัยขาดความพร้อมในการวางแผนและออกแบบงานวิจัยหรือกระบวนการในการวัดที่เหมาะสม 3) ผู้วิจัยมีความเข้าใจหรือการใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกันซึ่งจะเกิดในการทำการวิจัยในรูปแบบทีมที่มีผู้ร่วมวิจัยหรือผู้เก็บตัวอย่างหลายคน และ 4) ผู้วิจัยมีความจงใจบิดเบือนหรือมีอคติเกิดขึ้นโดยวิธีการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากปัจจัยนี้ก็คือ การเน้นให้ผู้วิจัยมีจรรยาบรรณในการวิจัย การเพิ่มทักษะการใช้เครื่องมือให้กับผู้วิจัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมและการวางแผนการวิจัยที่เหมาะสมโดยเฉพาะกรณีที่มีการทำงานกันเป็นทีมและผู้วิจัยหลายคน
  3. กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมงานวิจัย (Participants) มักจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม โดยส่วนใหญ่มักเกิดจาก 1) ความไม่พร้อมของกลุ่มตัวอย่าง 2) กลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง และ 3) กลุ่มตัวอย่างไม่ให้ความร่วมมือในการวิจัยโดยวิธีการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากปัจจัยนี้ก็คือ การวางแผนการวิจัยโดยเฉพาะกระบวนการคำนวณจำนวนตัวอย่างและสุ่มตัวอย่าง การมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มากพอ การพูดคุยให้กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจในงานวิจัย รวมถึงการดำเนินการวิจัยเมื่อกลุ่มตัวอย่างพร้อม
  4. สิ่งแวดล้อม (Environment) มักจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทั้งเชิงระบบและแบบสุ่ม โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ทำการเก็บหรือวัดข้อมูลไม่เหมาะสม ไม่เอื้อต่อการเก็บข้อมูลโดยวิธีการแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากปัจจัยนี้ก็คือ การออกแบบกระบวนการเก็บตัวอย่างหรือการวัดข้อมูลที่มีความคลอบคลุม และดำเนินการในสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม

เห็นไหมคะว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มจากการวัดคุณภาพเครื่องมือทำวิจัยนั้นสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มต้นโดยจากการออกแบบและวางแผนกระบวนการวิจัย จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราควรจะทราบและตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้เพื่อจะได้ดำเนินการป้องกันตั้งแต่แรกค่ะ เพราะการป้องกันนั้นง่ายกว่าการแก้ไขแน่นอน สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ขอขอบพระคุณสถานพัฒนาบุคลากรเพื่อการศึกษาทางไกลมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่ได้ให้โอกาสผู้เขียนในการเข้าร่วมการฝึกอบรมในโครงการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) รุ่นที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในครั้งนี้นะคะ ขอบคุณค่ะ